หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

งานประเพณีฮีตสิบสองและงานกาชาด จังหวัดอำนาจเจริญ

งานประเพณีฮีตสิบสองและงานกาชาด จังหวัดอำนาจเจริญ
ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2563

บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ

  ขอเชิญเที่ยวงานประเพณีฮีตสิบสองและงานประจำปีจังหวัดอำนาจเจริญระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2563 เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และจัดหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจการสาธารณกุศลของจังหวัด และการดำเนินกิจการของเหล่ากาชาดจังหวัด ในการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยต่างๆ ในพื้นที่ของจังหวัด รวมถึงการสาธารณกุศลต่างๆ

สำหรับปีนี้ มีกิจกรรมและการแสดงในงานประกอบด้วย การออกร้านนิทรรศการของส่วนราชการและภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้า OTOP  การประกวดและแข่งขันต่างๆรวมถึงการแสดงวงดนตรีชื่อดังทั้งลูกทุ่งและสตริง ทุกวัน การแสดงแสงสีเสียง ภายใต้ชื่อ เปิดตำนาน “ฮีตสิบสอง” ซึ่งเป็นการแสดงงานบุญพระเพณีทั้ง 12 เดือนของชาวอำนาจเจริญ  จากโรงเรียนในพื้นที่ตลอดทั้ง 10 วัน






 ตำนาน ฮีตสิบสองและงานกาชาด จ.อำนาจเจริญ
    
เมื่อถึงเดือนธันวาคม ลมหนาวจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะพัดเข้าสู่ จังหวัดอำนาจเจริญ ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปหนาวเย็น และเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าว เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้วเสร็จ ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ จึงได้จัดงานประเพณี ฮีตสิบสองและงานกาชาด เป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้ใช้นาได้รื่นเริงหลังจากตรากตรำทำนามาหลายเดือน

ฮีตสิบสอง คือ จารีตประเพณีสิบสองเดือน ที่ชาวอีสานได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยมีการเริ่มนับตั้งแต่เดือนอ้าย(เดือนธันวาคม) ซึ่งเป็นเดือนแรกเริ่มงานบุญ  ในแต่ละเดือนจะมีงานบุญดังนี้

   เดือนอ้าย-บุญเข้ากรรม คือ พิธีทำบุญถวายพระภิกษุผู้ต้องอาบัติ  ซึ่งเข้าไปอยู่ในเขตจำกัด เพื่อทรมานร่างกายให้พ้นจากกรรมหรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำและเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เชื่อกันว่า เป็นการรำลึกและทดแทนพระคุณมารดา ที่เคยอยู่ไฟหรืออยูกรรมหลังการคลอดบุตร

   เดือนยี่ –บุญคูณลาน(บุญคูณข้าว) เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จและที่กองไว้บนลานบ้าน และนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น กลางคืนมีมหรสพพื้นบ้าน รุ้งเช้ามีการถวายอาหารบิณทบาตแด่พระสงฆ์ จากนั้นนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมตามกองข้าวและท้องนา โดยเชื่อว่า จะทำให้ข้าวกล้าในปีต่อๆไปงอกงามดี ปราศจากศัตรูมารบกวน เสร็จพิธีจึงขนข้าวใส่ยุ้ง

   เดือนสาม –บุญข้าวจี่ นิยมทำกันในกลางเดือนสามหรือปลายเดือนสาม ภายกลังการทำบุญวันมาฆบูชา คำว่า จี่ คือ การปิ้ง วิธีทำข้าวจี่ คือ การนำข้าวเหนี่ยวที่นึ่งสุกแล้ว มาปั้นเป็นก้อน โตเท่าไข่ไก่ ทาเกลือเคล้าให้ทั่วนวดให้เหนียว ทาด้วยไข่ ซึ่งตีไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดีแล้ว นำไปย่างไฟให้สุกอีกครั้ง และเอาน้ำอ้อยปีบใส่เข้าไปด้วย เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานและข้าวจี่มารวมกันที่ศาลาวัด นิมนต์พระสงฆ์ให้ศีลแล้วตักบาตรถวายข้าวจี่อาหารคาว เมื่อพระฉันท์เสร็จจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา จากนั้นชาวบ้าจะนำข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันท์มารับประทาน เพราะเชื่อว่า จะได้รับโชค
    
   เดือนสี่ –บุญพระเวส (บุญมหาชาติ)จัดเป็นงานใหญ่ของชุมชน ก่อนเริ่มงานชาวบ้านจะช่วยกันทำที่พักของผู้มาร่วมงาน ประดับประดาศาลาโรงธรรมที่วัดให้สวยงาม วันแรกเรียกว่า วันโฮม หรือวันรวม ในตอนเช้ามืดจะมีพิธีนิมนต์พระอุปคุตอรหันต์ที่หออุปคุต สร้างไว้บริเวณที่วัดจัดงาน การทำพิธีต้องไปทำที่แม่น้ำหรือลำคลองของท้องถิ่น เพราะเชื่อว่า พระอุปคุตอรหันต์สถิตอยู่ใจกลางแม่น้ำ มหาสมุทร วันที่สองตอนบ่ายมีการแห่เผวส หรือแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง วันที่สามจัดให้มีการเทศมหาชาติ อนึ่งในงานบุญนี้ มักจะมีผู้นำสิ่งของมาถวายพระ เรียก กันฑ์หลอน โดยชาวบ้านจะแห่แหนเรี่ยไรเงินบูชากันฑ์เทศน์ในละแวกหมู่บ้านและไม่เจาะจงจะถวายพระภิกษุใด แต่จะเจาะจงพระภิกษุนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มา เรียกว่า กันฑ์จอบ เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่ใจก่อน
    
   เดือนห้า –บุญสงกรานต์ นิยมทำกันเช่นเดียวกับภาคกลาง คือวันที่ 13 -15 เมษายน มีการสรงน้ำพระพุทธรูป โดยสร้างหอสรงแล้วอันเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน เพื่อทำพิธีสรงน้ำในวันสงกรานต์
    
เดือนหก –บุญบั้งไฟ เป็นการบูชาอารักษ์หลักเมืองและเป็นประเพณีทำบุญขอฝน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อว่า หากปีใดงดงานบุญบั้งไฟจะทำให้เกิดฝนแล้งและภัยพิบัติต่างๆ

เดือนเจ็ด- บุญชำฮะ คือ การชำระ เป็นการชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง จึงมีการบูชา เทวดา อารักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง หลักบ้าน ผีพ่อแม่ ผีเมือง(บรรพบุรุษ)ตลอดจนผีประจำไร่นา เรียกว่า ผีตาแฮก
    
เดือนแปด –บุญเข้าพรรษา ถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนแปด เป็นวันทำบุญเข้าพรรษาชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาว ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะเครื่องสำหรับให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียงน้ำมัน เพราะถือว่า การถวายแสงสว่างแด่พระสงฆ์จะได้อานิสงฆ์แรง ทำให้เกิดปัญญามองเห็นธรรม
    
เดือนเก้า –บุญข้าวประดับดิน เป็นงานบุญที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือ เผต และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมด้วยหมากพลู บุหรี่ ในกระทงใบตองนำไปวางตามต้นไม้หรือตามพื้นดินหรือที่ใดที่หนึ่งบริเวณวัด พร้อมเชิญวิญญาณผู้ล่วงลับมารับอาหารที่อุทิศไปให้ ซึ่งจะทำพิธีในเวลา 4 –6นาฬิกาและในตอนเช้า ชาวบ้านจะนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์สามเณรแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ โดยการกรวดน้ำไปให้

เดือนสิบ –บุญข้าวสาก  เป็นการทำบุญอุทิศให้แก่เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วครั้งหนึ่ง  โดยมีเวลาห่างกับการทำบุญข้าวประดิบดินสิบห้าวัน ซึ่งเป็นเวลาที่เปรตจะกลับสู่ภูมิของตน

เดือนสิบเอ็ด –บุญออกพรรษา  มีการตักบาตรเทโว  รับศีลฟังเทศน์ ถวายผ้าจำนำพรรษา บางแห่งมีการกวนข้าวทิพย์ ในวันนี้พระสงฆ์จะร่วมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ มีมหรสพ และจุดประทีปโคมไฟตามรั้วหรือกำแพงรอบวัดและตามหน้าบ้าน เนื่องจากเป็นฤดูว่างจากการทำนารอการเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงถือโอกาสจัดงาน อาทิ เช่น การถวายต้นผึ้ง หรือปราสาทผึ้ง การล่องเฮือไฟ หรือ ไหลเรือไฟ หรือ แข่งเรือ เป็นต้น

เดือนสิบสอง –บุญกฐิน เป็นการถวายผ้าแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ซึ่งจำพรรษาแล้ว ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาจะไปเลือกหาวัดที่จะทำบุญกฐิน เมื่อตกลงแล้วก็จะไปจองไว้ เมื่อถึงวันทอดกฐิน ชาวบ้านจะเตรียมองค์กฐิน ประกอบด้วย ผ้าไตรจีวร อัฐบริขารและเครื่องไทยธรรม สำหรับถวายพระสงฆ์ ก่อนนำกฐินไปทอดถวาย มักจะมีมหรสพสมโภชฉลองกฐิน ทั้งนี้บุญกฐินที่ชาวอีสานได้จัดขึ้น นั้นแปลกไปจากภาคอื่น คือ การแปลงทางกฐิน  ได้แก่ การปรับแต่งถนนหนทางที่ขบวนแห่จะผ่านให้มีความสะอาดเรียบร้อยสามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก ซึ่งชาวบ้าน ถือว่า ได้กุศลแรง





พิธีกรรมตามฮีตสิบสอง  สาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้
  • ฮีตที่ 1. เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม
  • ฮีตที่ 2. เดือนยี่ บุญคูนลาน
  • ฮีตที่ 3. เดือนสาม บุญข้าวจี่
  • ฮีตที่ 4. เดือนสี่ บุญผะเหวด
  • ฮีตที่ 5. เดือนห้า บุญสงกรานต์
  • ฮีตที่ 6. เดือนหก บุญบั้งไฟ
  • ฮีตที่ 7. เดือนเจ็ด บุญซำฮะ
  • ฮีตที่ 8. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
  • ฮีตที่ 9. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
  • ฮีตที่ 10. เดือนสิบ บุญข้าวสากช
  • ฮีตที่ 11. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
  • ฮีตที่ 12. เดือนสิบสอง บุญกฐิน และงานลอยกระทง

งานประเพณีฮีตสิบสองและงานกาชาด จังหวัดอำนาจเจริญ
ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2563

บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ

กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน
  • 1 ธันวาคม 2563    พิธีเปิดงาน
  • 2 ธันวาคม 2563    ประกวดกองยาว 
  • 3 ธันวาคม 2563    ประกวดร้องเพลงท้องที่ 
  • 4 ธันวาคม 2563    ประกวดร้องเพลงท้องถิ่น 
  • 5 ธันวาคม 2563    ประกวดร้องเพลงของเยาวชน 
  • 6 ธันวาคม 2563    การเดินแบบผ้าไทย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ 
  • 7 ธันวาคม 2563    ประกวด TO BE NUMBER ONE IDOL โดยสำนักงานสาธารณสุข จ.อำนาจเจริญ 
  • 8 ธันวาคม 2563    การประกวดโปงลาง 
  • 9 ธันวาคม 2563    การประกวดนางสาวอำนาจเจริญ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ
  • 10 ธันวาคม 2563  การออกรางวัลสลากการกุศล โดยสำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ
รวมทั้งการออกร้านนิทรรศการจากส่วนราชการต่างๆ การจำหน่ายสินค้าราคาถูก ทั้งจากร้านค้าประชารัฐ ร้านค้า OTOP และสินค้าจากภาคเอกชน การแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดัง ทั้ง 10 วัน 10 คืน


🚔 การเดินทางมายังจังหวัดอำนาจเจริญ
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖

  โดยทางรถยนต์
อำนาจเจริญอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 585 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดอำนาจเจริญได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง
โดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปอำนาจเจริญได้ 2 เส้นทาง คือ
  • ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ถึงนครราชสีมา จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-สุรินทร์ และใช้ทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-สุวรรณภูมิ) แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ผ่านจังหวัดยโสธร และอำเภอป่าติ้ว ถึงจังหวัดอำนาจเจริญ รวมระยะทางประมาณ 585 กิโลเมตร
  • ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 (นครราชสีมา-อุบลราชธานี) ถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วใช้ทางหลวง หมายเลข 212 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ)รวมเป็นระยะทางประมาณ 704 กิโลเมตร
โดยรถประจำทาง
รถตู้ระหว่างเมืองอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ
โดยรถประจำทางมีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือถนนกำแพงเพชร 2ไปอำนาจเจริญ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง

รถโดยสารปรับอากาศและรถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมือง
รถโดยสารปรับอากาศ สายขอนแก่น -อำนาจเจริญ
รถโดยสารปรับอากาศ สายมุกดาหาร-พัทยา
รถโดยสารปรับอากาศ สายสกลนคร-อุบลราชธานี
รถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมืองอำนาจเจริญ -อุบลราชธานี ประมาณ 50 คัน
รถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมืองอำนาจเจริญ -เขมราฐ-อุบลราชธานี ประมาณ 40 คัน
รถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมืองอำนาจเจริญ -เลิกนกทา-อุบลราชธานี ประมาณ 40 คัน
รถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมืองอำนาจเจริญ -สกลนคร-อุบลราชธานี

การเดินทางภายในอำนาจเจริญ
ในตัวเมืองอำนาจเจริญมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งอำนาจเจริญ

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังอำเภอ เช่น อำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่งระยะทางจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญไปยังอำเภอต่าง ๆ คือ
  • อำเภอลืออำนาจ 22 กิโลเมตร
  • อำเภอปทุมราชวงศา 32 กิโลเมตร
  • อำเภอหัวตะพาน 35 กิโลเมตร
  • อำเภอพนา 47 กิโลเมตร
  • อำเภอชานุมาน 78 กิโลเมตร
  • อำเภอเสนางคนิคม 21 กิโลเมตร
โดยทางเครื่องบิน
  • สายการบินระหว่างดอนเมือง-อุบลราชธานี ลงเครื่องที่ สนามบินนานาชาติอุบลราชธานีแล้วต่อรถโดยสารปรับอากาศ/ รถตู้ปรับอากาศที่วิ่งระหว่างเมืองมายังอำนาจเจริญ

ที่พัก > ร้านอาหาร > รถเช่า > สินค้าที่ระลึก
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
  • โรงแรมในจังหวัดอำนาจเจริญ  
  • รถเช่าราคาถูก  
  • ร้านอาหารในจังหวัดอำนาจเจริญ  
  • สินค้าที่ระลึก  



💢 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ โทรศัพท์:: 045 451152
    E-mail: amnatcharoen@mots.go.th 
👍 ขอขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบ : 
  • เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ
  • ททท. - Tourism Authority of Thailand
  • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญ
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  • เว็ปไซด์ กระทรวงวัฒนธรรม
www.thailandfestival.org





ไม่มีความคิดเห็น: