เมืองแพร่ น่าจะสร้างยุคเดียวกันกับกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ซึ่งเมืองแพร่ในยุคนั้นคงไม่กว้างขวางและมีผู้คนมากมายเหมือนปัจจุบันเมืองแพร่มีชื่อเรียกกันหลายอย่างตำนานเมืองเหนือเรียกว่า "พลนคร" หรือ "เมืองพล"
ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ราว พ.ศ. 1470 - 1540 นั้น พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตลานนาและได้เปลี่ยนชื่อเมืองในเขตลานนาเป็นภาษาเขมร เช่น ลำพูนเป็น หริภุญไชย น่านเป็นนันทบุรี เมืองแพร่เป็นโกศัยนคร หรือนครโกศัย ชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า "เมืองพล" และได้กลายเสียงตามหลักภาษาศาสตร์เป็น "แพร่" ชาวเมืองนิยมออกเสียงว่า "แป้" ในปัจจุบัน
ผู้สถาปนาเมืองแพร่ขึ้น คือ พญาพล และ พระยาเมืองไชย
ตำนานประเพณีนมัสการพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวงย้อนอดีตเก่าแก่เมืองแพร่เมืองงามเล่าขานตำนานช่อแพร่ช่อแฮแหล่งประดิษฐานพระเกศาธาตุพระบรมสารีริกธาตุ พระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เมื่อถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ถวายแด่องค์พระธาตุสืบมา”
ตำนานเก่าแก่แห่งเมืองมนต์ขลังเล่าว่าอดีตกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพตและได้มอบพระเกศาธาตุให้ขุนลั๊วอ้ายก้อมไปบรรจุในผอบแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ ซึ่งผ้าแพรที่ ขุนลั๊ว อ้ายก้อม นำมารองรับ พระเกศาธาตุ นั้นเรียกว่า “ผ้าแฮ” นิยมนำผ้าแฮ หรือผ้าแพรมาประดิษฐ์เป็นช่อหรือธง แล้วทำการถวายสักการะเป็นพุทธบูชา ต่อมาภายหลังเพี้ยนมาเป็น “ช่อแฮ่” หรือ “ช่อแพร่” โดยครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่ และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐ์ที่นี่ด้วย และหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์จำนวนมากได้ร่วมกันอธิษฐานอันเชิญพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้บรรจุในผอบแก้วที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้แต่เดิมแล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไปจนกว่าจะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา ๕๐๐๐ พระวัสสา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ในสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ครั้งทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราชเมืองศรีสัชชนาลัย ได้เสด็จยกทัพแปรพระราชฐานมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮเสร็จแล้ว ทรงให้มีงานฉลองสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๙-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครแพร่ทุกพระองค์ก็ได้ยึดถือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปีสืบมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในสมัยของเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ ได้ลดการจัดงานเหลือ ๕ วัน ๕ คืน คือวันขึ้น ๑๑-๑๕ ค่ำ เดือน๖ เหนือ เดือน ๔ ใต้ ของทุกปี
ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วยริ้วขบวนของทุกอำเภอ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาล ขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าแพรคลุมองค์พระธาตุ ๑๒ สี ซึ่งประกอบด้วยขบวน ๑๒ ราศี ขบวนเทพีโปรยข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ด้นดอก ขบวนตุง ขบวนฟ้อนรำ มีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดก ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
ปัจจุบันประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง นอกจากจะมีขบวนแห่ที่อลังการตามแบบอย่างในอดีตแล้วภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น กิจกรรมการสาธิตการทำตุง โคม เครื่องสักการะล้านนา การประกวดหนูน้อยช่อแฮ รวมทั้งการออกร้านและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจและน่ามาสัมผัสความอลังการด้วยตนเองทั้งสิ้น
จังหวัดแพร่ แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้คนเดินทางมาเยือนตลอดทั้งปี ด้วยเป็นบ้านเมืองที่มีความเก่าแก่ มีผู้คนน่ารัก เป็นมิตร โดดเด่นไปด้วยวัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวชุมชน อาหารถิ่น และวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแถมยังได้สัมผัสกลิ่นอายความเป็นอดีตหัวเมืองของอาณาจักรล้านนาตะวันออกที่น่าประทับใจ
ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ ร่วมกับวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง, ททท. สำนักงานแพร่, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่, เทศบาลตำบลช่อแฮ, ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2563” ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2563 นับเป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องสืบทอดมายาวนาน แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อบวรพระพุทธศาสนา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่
ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 15.00 น. วันแรกของการจัดงาน ชมขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนแห่ตุงหลวง และขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดแพร่ ขบวนแห่ผ้าแพรห่มองค์พระธาตุประจำวันเกิด และมีการแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติมหาเวสสันดรชาดก การแสดงศิลปวัฒนธรรมและมหรสพอื่นๆ อีกมากมายตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน
ในงานนี้ ททท.ขอเชิญชมการแข่งขัน “ตีกลองปู่จาพญาขาล” อันเป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงจาก 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป พร้อมชมการแสดงตีกลองปู่ จากสำนักงาน ททท.ในภาคเหนือ ณ เวทีกลาง (ลานจอดรถทิศตะวันออก) วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จังหวัดแพร่
เบอร์โทร : 054599209
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น