หน้าแรก

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี

Bridge Over the river Kwai Kanchanaburi,Thailand 

งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและชาวจังหวัดกาญจนบุรีจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควและงานกาชาดจังหวัดกาญจนบุรีประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน -6 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งยังเกิดการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ 

ก่อนจะถึงวันงาน เรามาย้อนรำลึกถึงทหารหาญและผู้จากไปในการเป็นเชลยศึกเพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ช่วงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานแห่งประวัติศาสตร์ หลายชาติต้องลำบากอดอยากขาดแคลนอาหาร ทุกข์ทนทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บและความทารุณของสงครามบนเส้นทางรถไฟสายมรณะ พาเอาชีวิตเชลยหลายหมื่นคนต้องล้มตาย จนสิ้นสุดสงครามสะพานข้ามแม่น้ำแควได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ 


ประวัติ

สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน สมทบด้วยกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า และอินเดีย อีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า 

                              

                              




                              

ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง จนกระทั่งทางรถไฟสายนี้ถูกเปรียบเทียบไว้ว่า “ไม้หมอนแต่ละท่อนตลอดทางรถไฟสายนี้เท่ากับชีวิตของเชลยศึกและคนงานที่ต้องล้มตายลงจากการสร้างทางรถไฟนี้ทีเดียว”


สะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างเพียง 1 เดือน โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและโครงสะพานเป็นไม้ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ได้ถูกทิ้งระเบิดหลายครั้งจนสะพานหักท่อนกลาง 


ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ด้วยเหล็กรูปเหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2489 จนสามารถใช้งานได้ ปัจจุบัน มีการยกย่องให้เป็น สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ


ทางรถไฟสายมรณะ

   ทางรถไฟสายมรณะ หรือ ทางรถไฟสายพม่า หรือ ทางรถไฟสายกาญจนบุรี ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่าทางรถไฟสายมรณะมีความยาวจากหนองปลาดุกถึงสถานีทันบูซายัดรวม 415 กิโลเมตร 

เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตกเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร 

การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวันและจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ - น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ จุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากคือช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และช่วงโค้งมรณะหรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อยยาวประมาณ 400 เมตร

   ทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นขอยืมเงินจากรัฐบาลไทย จำนวน 4 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า หลังสงครามทางรถไฟบางส่วนถูกรื้อทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้น เนื่องจากน้ำพักน้ำแรงของการบุกเบิกก่อสร้าง เป็นของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา

 เหตุที่ทางรถไฟสายนี้ได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะ ก็เพราะว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดาและนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คนและกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู พม่า อินเดีย อีกจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล เพื่อจะไปโจมตีพม่าและอินเดียต่อไป ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น 

การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัยตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2486 และเปิดใช้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปีเดียวกัน

หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลไทยได้จ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้ จากอังกฤษ และทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน  เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอนุสรณ์ของโลกที่จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามด้วย



การท่องเที่ยว
  ทิวทัศน์ตลอดเส้นทางนี้สวยงามมาก โดยเฉพาะบริเวณถ้ำกระแซ ที่เส้นทางรถไฟจะลัดเลาะไปตามเชิงผาเลียบไปกับลำน้ำแควน้อย ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้สุดปลายทางที่บ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตกเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถไฟขบวนปกติ ธนบุรี - น้ำตก ทุกวัน และจัดขบวนพิเศษสายกรุงเทพ - น้ำตกไทรโยคน้อย ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ


สำหรับการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควและงานกาชาด จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2563 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 40 ภายในงานจะมีการออกร้านของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว การจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ สวนสนุกระดับพรีเมี่ยมและร้านค้าที่หลากหลาย ชมมหกรรมคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำ 

สำหรับในปีนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู พร้อมทั้งยังได้มีการนำแนวทางการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควและงานกาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2563 บนพื้นฐานวิถีชีวิตใหม่ New Normal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การดูแลในด้านอาหารปรุงสุก การตั้งจุดล้างมือหรือบริการเจลแอลกอฮอล์ ให้ครอบคลุมภายในสถานที่จัดงานฯ อีกด้วย

งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และงานกาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี 2563
ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี

ปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปี #ฟรีไม่เก็บค่าผ่านประตู เวทีโค้ง ไฟแสงสีเสียง จอ LED ยิ่งใหญ่อลังการ กลางคืนชมมหกรรมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง

27 พ.ย. ลาบานูน #เต็มวง
28 พ.ย. มหกรรมคอนเสิร์ต 
29 พ.ย. มหาหิงค์ #เต็มวง
30 พ.ย. เนสกาแฟ #เต็มวง
1 ธ.ค. พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ #เต็มวง
2 ธ.ค. รำวงประยุกต์ ศรเพชร ศรสุพรรณ #เต็มวง #ชมฟรี
3 ธ.ค. เต้ย อภิวัฒน์ #เต็มวง
4 ธ.ค. จ๊ะ อาร์สยาม #เต็มวง
5 ธ.ค. คาราบาว #เต็มวง
6 ธ.ค. อ๊อดโฟร์เอส #เต็มวง

การเดินทาง :

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม จากนั้นขับตรงไปมุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี จากแยกนครชัยศรีขับตรงไปโดยจะผ่านแยกบ้านแพ้ว ผ่านสะพานไปตัวเมืองนครปฐม ผ่านแยกไปจังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นจะถึงสะพานไปจังหวัดกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะขาม ห่างจากตัวเมือง ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกซ้ายประมาณ 870 เมตร
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งผู้โดยสาร ถ.บรมราชชนนี กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยสามารถนั่งรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี แล้วไปลงที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี นั่งรถสายกาญจนบุรี -เอราวัณ หรือรถสายกาญจนบุรี–ทองผาภูมิ -สังขละบุรี ไปลงตรงแยกซ้ายมือเข้าสะพานข้ามแม่น้ำแคว จากนั้นนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างเข้าไปประมาณ 870 เมตร

โรงแรมในจังหวัดกาญจนบุรี  
ร้านอาหารในจังหวัดกาญจนบุรี  
สินค้าที่ระลึก




อบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี 
โทรศัพท์ 0-3451-1778, 0-3451-5208  / เว็บไซต์www.kanchanaburi.go.th

แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี
ขอบคุณรูปภาพจาก:Thailand Festival, tatnews, thaifest.tourismthailand,
http://hellfire-pass.commemoration.gov.au ,สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี (PRD_KAN)

   

 
#งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว #งานสะพาน #เทศกาลงานประจำปี #กาญจนบุรี
#งานกาชาดกาญจนบุรี #kanchanaburi #ภาคตะวันตก #ฟรีค่าบัตรผ่านประตู
#ฟรีค่าชมการแสดงระเบิดสะพาน #ขั้นตอนเพียงแค่มาเข้าคิวต่อแถวหน้าพื้นที่จัดแสดงเพื่อจัดคิวเข้าชมจนกว่าที่นั่งจะเต็ม #ตลาดเชลยศึก #ตลาดสะพานดำ #งานแสงสีเสียง

ไม่มีความคิดเห็น: