หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2563

29 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2563
วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


  วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป


ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ “กระทง” จากวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย

ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง นั้นไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน


ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า


ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า

“ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย…”

เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน” พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


   ประเพณีลอยกระทง สืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป” ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า “ลอยโคม” หรือ “ว่าวฮม” หรือ “ว่าวควัน” ทำจากกระดาษบางๆ กระดาษที่ใช้ทำว่าว แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า “ยี่เป็ง” หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)

ประเพณี “ยี่เป็ง” เชียงใหม่
 
   จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี “ยี่เป็ง” เชียงใหม่ ในทุกๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า

  ประเพณีกระทงสายหรือประทีปพันดวง จังหวัดตาก

จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า “กระทงสาย”

ประเพณี ลอยกระทง เผา เทียน เล่น ไฟ จังหวัด สุโขทัย

จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

"สิบสองเป็ง" (ประเพณีปล่อยผี ปล่อยเปรต) ภาคอีสาน

งานประเพณี สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป จังหวัดร้อยเอ็ด 

 เทศกาลลอยประทีปพระราชทานจังหวัดสกลนคร 

ประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม

ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น
จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง 11 หัวเมือง
จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า “ไหลเรือไฟ” โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน



ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่

1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท

3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้

5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

เพลงวันลอยกระทง

เพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็นเพลง “รำวงลอยกระทง” มีเนื้อร้องว่า

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ


งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2563
29 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2563
วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2563

วันที่จัดงาน วันที่ 29-31 ตุลาคม 2563
  • วันที่ 29-30 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00-22.00 น.
  • วันที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00-24.00 น.
ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กิจกรรมภายในงาน

สัมผัสบรรยากาศงานประเพณีลอยกระทงย้อนยุคเชิงวัฒนธรรมไทย ความเป็นอดีตที่รุ่งเรืองและความงดงามความเป็นไทย ในรูปแบบ new normal เชิญชวนแต่งกายผ้าไทยหรือชุดไทยเข้าร่วมงาน และจองเข้าร่วมงานล่วงหน้าทางแอพพลิเคชั่น Que Q
  • ขบวนแห่ประเพณีลอยกระทงวิถีไทย
  • การแสดงดอกไม้ไฟโบราณ
  • การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงร่วมสมัย และการแสดงที่หาชมได้ยาก
  • กิจกรรมสาธิตศิลปวัฒนธรรม
  • ร้านค้าจำหน่ายอาหารและหัตถกรรม Premium crafts and food
  • กิจกรรม DIY
การเดินทางมายังจังหวัดอยุธยา
โดยรถยนต์
  • เส้นทางที่ 1  จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ต่อมาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 สู่อยุธยา
  • เส้นทางที่ 2  จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3111 (ปทุมธานี-สามโคก-เสนา) และจากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอเสนาโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3263
  • เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 306 (ถนน กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี) จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347
โดยรถประจำทาง
  • รถประจำทางแบบธรรมดา วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครจากสถานีขนส่งสายเหนือ (สถานีหมอชิต 2) และออกจากสถานีอยุธยาซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนนเรศวร รถประจำทางออกทุกๆ 20 นาทีตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. และการเดินทางใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สำหรับรถโดยสารปรับอากาศออกทุกๆ 20 นาที ตั้งแต่เวลา 5.40-19.20 น.ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง

โดยรถไฟ
  • รถไฟไปอยุธยาออกจากกรุงเทพฯ ที่สถานีหัวลำโพงทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 4:20 น. - 10:00 ค่าโดยสารชั้นที่ 3 เป็น 15 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง ตารางการเดินรถไฟสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
ติดต่อสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือ 1690


โดยเรือ
  • ปัจจุบันการเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยทางน้ำเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก เพราะจะได้ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่พัก > ร้านอาหาร > รถเช่า > สินค้าที่ระลึก
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
รถเช่าราคาถูก > คลิกดูรายละเอียด
โรงแรมในจังหวัดอยุธยา >  คลิกดูรายละเอียด 
ร้านอาหารในจังหวัดอยุธยา > คลิกดูรายละเอียด 🍽
สินค้าที่ระลึก >  คลิกดูรายละเอียด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 1672
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา
โทร. 0 3524 6076-7
Email: tatyutya@tat.or.th
www.thailandfestival.org
FB Fanpage : Thailand Festival

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบ : 
  • ททท. - Tourism Authority of Thailand
  • สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  • https://www.facebook.com/prd.ayutthaya.net
#งานสีสันแห่งสายน้ำ #มหกรรมลอยกระทงปี2563 #ลอยกระทงอยุธยา #สุขสันต์วันลอยกระทง #มหกรรมลอยกระทง๒๕๖3 #พุทธอุทยานมหาราชอยุธยา #ลอยกระทงหน้าองค์หลวงปู่ทวดอยุธยา #ไอ้ไข่ศิษย์หลวงปู่ทวดอยุธยา #ร้านอาหารลอยกระทง #ลอยกระทงร้านอาหาร #วัดมหาธาตุอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา #พระนครศรีอยุธยา #Eventthai #อีเว้นท์ไทย #เที่ยวไทย #ไทยเที่ยวไทย #เที่ยวใกล้กรุงฯ #ลอยกระทง #เทศกาลลอยกระทง

ไม่มีความคิดเห็น: