ในสมัยโบราณในแถบพื้นที่ของ จังหวัดสุรินทร์ มีช้าง อาศัยอยู่มากมาย ขณะเดียวกันจังหวัดสุรินทร์ก็มีชาวพื้นเมืองที่มีความชำนาญในการจับช้างป่ามาฝึกหัดทำงาน เรียกว่า พวก “ส่วย” (ชาวกูย)
ที่หมู่บ้าน ตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ชาวส่วยกลุ่มนี้ได้เข้าไปอยู่บนเนิน เขตรอยต่อระหว่าง ดงสายทอและดงรูดินใกล้ๆ กับบริเวณที่ลำน้ำชี้ (ชีน้อย) อันเป็นลำน้ำที่แบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ และลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน โดยสภาพพื้นที่ดังกล่าวในอดีตได้ตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้การผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นจึงมีน้อย ชาวส่วยเกือบทั้งหมดในเขตพื้นที่นี้ ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนเองอยู่
โดยเฉพาะการเลี้ยงช้าง เป็นอาชีพหลักที่สำคัญที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในสมัยโบราณ ซึ่งไม่อาจสืบค้นได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด โดยชาวส่วยเหล่านี้จะพากันออกไปจับช้างในเขตประเทศกัมพูชามาฝึกให้สามารถใช้งานได้แล้วขายให้กับพ่อค้าจากภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อนำไปลากไม้ในป่า
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2502 ได้เกิดพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา การเดินทางไปจับช้างจึงยุติลง และในที่สุดก็ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงในราวปี พ.ศ.2506 ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางส่วนได้หันมาฝึกช้างจากการเป็นสัตว์ใช้งานมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเช่นเดียวกับ แมวและสุนัข และฝึกสอนให้แสดงกิริยาต่างๆ เลียนแบบคน เพื่อจะได้นำไปแสดงในที่ต่างๆ แทนการขายไปทั้งตัว
จนกระทั่งทางจังหวัดสุรินทร์ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อในขณะนั้น) ได้มองเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมการแสดงของช้างเป็นงานประจำปี ของจังหวัดสุรินทร์และประเทศไทยขึ้น โดยจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา
แต่ก่อนที่จะมีงานช้างซึ่งถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาเกือบ 40 กว่าปีล่วงมาแล้ว นายท้าว ศาลางาม หมอช้างระดับครู ขาใหญ่แห่งหมู่บ้านกระเบื้องใหญ่ อำเภอชุมพลบุรี ได้เล่าถึงความเป็นมาของงานช้างว่า..
ในปี พ.ศ.2498 นั้นมีข่าวลือว่า จะมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่ หมู่บ้านตากลาง หรือหมู่บ้านช้างในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวบ้านนานๆ จะได้เห็นยวดยานพาหนะประเภทรถยนต์ และเครื่องบินผ่านไปในเขตพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของตน จึงแตกตื่นไปทั่วตำบล มีการชักชวนกันไปดูเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเนื่องจากชาวบ้านในตำบลกระโพ เกือบทุกหมู่บ้านมีอาชีพสำคัญคือการเลี้ยงและออกจับช้างป่ามาฝึกขาย จึงมีช้างเกือบทุกครัวเรือน โดยเป็นทั้งพาหนะและสินทรัพย์ที่สำคัญของชาวบ้านแถบนั้นการเดินทางไปดูเฮลิคอปเตอร์ในครั้งนั้นจึงใช้ช้างเป็นพาหนะ
เมื่อไปถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์แล้วปรากฏว่ามีช้างจำนวนมากมายรวมกันแล้วนับได้ประมาณ 300 เชือก สร้างความตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2503 นายวินัย สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูม สมัยนั้น ได้ให้นำช้างเหล่านี้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมแสดงในงานฉลองที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ณ บริเวณสนามบินเก่าท่าตูม คือ บริเวณโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ในปัจจุบัน
การแสดงครั้งนั้นได้จัดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 มีการเดิน ขบวนพาเหรดของช้าง การแสดงการคล้องช้าง และการแข่งขันช้างวิ่งเร็ว มีช้างเข้าร่วมในการแสดงประมาณ 60 เชือก จากการแสดงคราวนั้น ทำให้มีการประชาสัมพันธ์แพร่ภาพทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ไปทั่ว ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ชื่อเดิมของ ททท.)จึงเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยว่าการแสดงของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนั้น นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากของจังหวัด และประชาชนทั่วไปก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่มีโอกาสหาชมได้น้อย จึงเห็นสมควรที่จะเผยแพร่งานแสดงของช้างไปสู่วงกว้าง โดยเสนอให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีของจังหวัด และให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
โดยมีการกำหนดวันให้แน่นอนตามปฏิทินทางสุริยคติ และจัดรูปแบบงานให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาในการโฆษณาเชิญชวนไปยังต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศให้แพร่หลายไปด้วย
ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2504 จังหวัดสุรินทร์จึงได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่ประเทศไทย จัดงานแสดงของช้างขึ้น เป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงจัดที่อำเภอท่าตูม ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางทิศเหนือประมาณ 52 กิโลเมตร จากผลการจัดงานแสดงของช้างดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
ทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้งานแเสดงของช้างเป็นงานประจำปี และ คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2505 เป็นต้นมางานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์จึงกลายเป็นงานประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์จนกระทั่งปัจจุบัน
งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประจำปี 2563 วันที่ 12-23 พฤศจิกายน
ททท. เชิญหลงรักประเทศไทยกับงาน “มหัศจรรย์งานแสดงช้างสุรินทร์ ประจำปี 2563 ครั้งที่ 60 และงานเลี้ยงอาหารช้างที่ยิ่งใหญ่ของโลก”
จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัดงาน “งานแสดงช้างสุรินทร์” ประจำปี 2563 ครั้งที่ 60 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-23 พฤศจิกายน 2563 และชมการแสดงช้างในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 บริเวณสนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ และวัฒนธรรมประเพณี เสริมสร้างความเป็นชาวสุรินทร์ โดยในปีนี้มีการจัดฉากการแสดงที่สมจริงยิ่งใหญ่
นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า"งานแสดงช้างสุรินทร์ประจำปี 2563 ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 60 เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง และร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับช้างจังหวัดสุรินทร์ที่มีความผูกพันกันมาช้านาน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ดังนี้
วันที่ 19 พ.ย.
- เวลา 08.00 น. ซ้อมใหญ่งานแสดงช้าง ณ สนามแสดงช้าง
- เวลา 18.30 น. การประกวดรถอาหารช้างบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง
วันที่ 20 พ.ย.
- เวลา 08.00 น. งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ซึ่งเป็นการจัดโต๊ะจีนเลี้ยงหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวกว่า 400 เมตร ช้างเข้าร่วมกว่า 250 เชือก
วันที่ 20 -21 พ.ย.
- เวลา 19.30 น. ชมงานแสดง แสง สี เสียง ณ บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อ.ศีขรภูมิ
วันที่ 21-22 พ.ย.
- 08.00 น. การแสดงช้าง ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 9 ฉากหรือ 9 องก์ และ
- 18.00 น. ชมงาน Light & Sound Elephant Show
วันซ้อมใหญ่ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 เข้าชมฟรี ทุกที่นั่ง
วันแสดงจริง วันที่ 21 - 22 พฤศจิกายน 2563 บัตรราคา 500, 300 บาท
งาน Light & Sound Elephant Show บัตรราคา 200 บาท
ติดต่อจองบัตร และซื้อบัตรได้ที่สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งสามารถโอนเงินได้ที่ชื่อบัญชี งานแสดงช้างสุรินทร์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 310-0-71191-2 ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสุรินทร์
โทร. 044-512039 การแสดง แสง สี เสียง ณ ปราสาทศีขรภูมิ ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2563
ติดต่อสอบถาม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร. โทรสาร. 0 4451 8530
Facebook : TAT Surin Office
- จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน)? แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทางเข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอปราสาท จากอำเภอปราสาทแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ถึงตัวเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง 457 กิโลเมตร
- หรืออาจเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครราชสีมา ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สู่จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร
- จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) ไปจังหวัดสุรินทร์ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936-2852-66 www.transport.co.th?
- บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดสุรินทร์ โทร. 0 4451 1756
- บริษัท กิจการราชสีมาทัวร์ โทร. 0 4451? 2161?
- นครชัยแอร์ โทร. 0 4451 5151
- มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ? สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1690,? 0 2220 4334 , 0 2220 4444 และสถานีรถไฟสุรินทร์ โทร. 0 4451 1295, 0 4451 5393? www.railway.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น